ปวดข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)

สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

อาการปวดข้อมือ เป็นโรคที่เกิดจากพังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่ใช้ข้อมือซ้ำๆเป็นเวลานานๆ เช่น ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ช่างเย็บผ้า คนขับรถ นักเขียน เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณข้อมือ อาจมีอาการร้าวชามาที่บริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ มือไม่มีแรง หยิบจับสิ่งของไม่ถนัด เมื่อกระดกข้อมือขึ้นลงหรือใช้งานข้อมือจะมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น

สำหรับวิธีการป้องกัน คือ

1. การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงาน เช่น ควรใช้แผ่นรองเมาส์เพื่อลดองศาการกระดกข้อมือค้างไว้นานๆ

2. หมั่นบริหารข้อมือเพื่อช่วยยืดพังผืดที่กดทับบริเวณเส้นประสาท ได้แก่ การกระดกข้อมือ ขึ้น-ลง ค้างไว้ 30 นาที ทำ 5 ครั้ง เช้า เย็น

3. ประคบร้อนบริเวณข้อมือ 15 นาที เช้า เย็น เพื่อให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นมากขึ้น อาจใช้ลูกประคบสมุนไพรในการประคบร้อนเนื่องจากในลูกประคบมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งจะช่วยลดอาการปวด หรือการแช่มือในน้ำอุ่น 15 นาที เช้า เย็น โดยอาจผสมสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยต้มลงในน้ำ เช่น ข่า ตะไคร้ ไพล

4. หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือหนักๆ เช่น การยกของหนัก การขับรถเป็นเวลานาน ควรมีการหยุดพักระหว่างการทำงานเพื่อบริหารข้อมือ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ความรู้ทางศาสตร์การแพทย์แผนไทยในการนวดแก้อาการปวดบริเวณข้อมือ การประคบร้อนด้วยลูกประคบสมุนไพร การใช้น้ำมันสมุนไพร เพื่อคลายพังผืดที่แข็งตึงที่กดทับบริเวณเส้นประสาทลดอาการปวด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก

อาการปวดข้อมือ พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ข้อมือในการทำงาน เช่น พนักงานบริษัท คนขับรถ ช่างตัดเย็บ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆให้เหมาะสม หมั่นทำท่าบริหารและประคบร้อน เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการดังกล่าว หรืออาจรักษาร่วมกับการนวด การประคบสมุนไพร และการใช้น้ำมันสมุนไพรตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลเปาโล

อ่านต่อ เกร็ดความรู้สุขภาพที่น่าสนใจ